ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์


วันนี้ผมอยากจะเอาเรื่องของ “ลิขสิทธิ์” มาเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ครับ วันนี้ผมเลยเอาเรื่องนี้มาบอกเล่าเอาไว้ก่อนนะครับ เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจของเราเองนะครับ

ลิขสิทธิ์คืออะไร

ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ตนได้กระทำขึ้น

 

ประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์

งานสร้างสรรค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ต้องเป็นงานในสาขา วรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ รวมถึงงานอื่น ๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ งานเหล่านี้ถือเป็นผลงาน ที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะ ในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่า คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีส่วนที่เกี่ยวข้ออยู่กับประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์,ไฟล์เพลง,ไฟล์หนัง ถือว่าเป็นผลงานวรรณกรรมชนิดหนึ่งนะครับ

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

สิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใด ๆ หมายความว่า แค่คุณคิดหรือสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งขึ้นมา ก็ถือว่าคุณได้รับความคุ้มครองในด้านลิขสิทธิ์แล้วครับ

 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์

ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ในการใช้ประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ของตน ในการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมทั้งสิทธิในการให้เช่า โดยทั่วไปอายุการคุ้มครองสิทธิจะมีผลเกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

ข้อสังเกตเพิ่มเติม ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ กรณีที่นักร้องได้ร้องเพลงๆ หนึ่ง เพลงนั้นโดยปกติแล้วจะถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงเท่านั้น (มีการทำสัญญากันไว้) มิใช่ของนักร้องคนนั้นร่วมกับค่ายเพลง (เว้นแต่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นครับ)

 

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค

การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในผลงานลิขสิทธิ์ มีผลให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ ผลงานที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางวรรณกรรมและศิลปกรรมออกสู่ตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความรู้ ความบันเทิง และได้ใช้ผลงานที่มีคุณภาพ

 

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางศีลธรรม ซึ่งบุคคลพึงได้รับจากผลงานสร้างสรรค์อันเกิดจากความนึกคิดและสติปัญญาของตน นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน กล่าวคือ เมื่อผู้สร้างสรรค์ได้รับผลตอบแทนจากหยาดเหงื่อแรงกายและสติปัญญาของตน ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุน ก็ย่อมจะเกิดกำลังใจที่จะคิดค้นสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานให้แพร่หลายออกไปมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสติปัญญาของคนในชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์มาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ความเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปในเรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่ชัดเจน ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำไปสู่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่ยั่งยืนกว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหต

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลิขสิทธิ์” ว่า หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆตามพระราชบัญญัตินี้” เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น นั่นก็หมายความ ว่า เจ้าของลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิจะทำอย่างไรก็ได้ กับงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง

 

การละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง : คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่สาธารณชน รวมทั้งการนำต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวออกให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม : คือ การกระทำทางการค้า หรือการกระทำที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นโดยผู้กระทำรู้อยู่แล้ว ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ก็ยังกระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้น ได้แก่ การขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์และนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

อธิบายเพิ่มเติม : ในส่วนนี้หลายคนเข้าใจกันผิดเป็นอย่างมาก บางเว็บไซต์ที่ให้บริการฟังเพลง ดาวน์โหลดเพลง หรือดาวน์โหลดหนัง มักจะอ้างว่า มิได้กระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้น แต่ถ้ามองความเป็นจริงแล้ว การที่ใครสักคนหนึ่งสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาก ก็หวังที่จะให้มีคนเข้ามาใช้บริการในเว็บของตนเองอยู่แล้ว กรณีนี้ ถือได้ว่าเป็นการหากำไรจากงานนั้นโดยอ้อมแล้วครับ

 

บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์

 การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง : มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม : มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับนี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก จะต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

กรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ค่าปรับที่ได้มีการชำระตามคำพิพากษานั้น ครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างไรก็ดีการได้รับค่าปรับดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับไว้แล้วนั้น

พอจะได้ความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ดังนั้นหากเจอกรณีที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ให้พยายามหลีกเลี่ยงเข้าไว้นะครับ