สรุปข่าวไอทีประจำวัน (7 มกราคม 2555)


สรุปข่าวไอทีที่น่าสนใจประจำวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2555 ครับ

 

Nokia ส่งมือถือ 3 รุ่นลงตลาดรับปีใหม่

Nokia เปิดมือถือ 3 รุ่นให้ลูกค้าเลือกใช้ตามความต้องการ คือ Nokia Asha 200 มือถือ 2 ซิม QWERTY, Nokia C2-06 มือถือ 2 ซิมสีสันสดใส, และ สมาร์ทโฟน Nokia C5-06

แกรนท์ แมคบีธ กรรมการผู้จัดการ โนเกีย ประเทศไทย และตลาดเอเชียเกิดใหม่ กล่าวว่า โทรศัพท์ 2 ซิมของโนเกียได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ในไทยเป็นอย่างดี เพราะสามารถเปลี่ยนซิมได้ง่ายโดยไม่ต้องปิดเครื่อง ความง่ายในการใช้งาน ความสวยงาม และคงทนของตัวเครื่อง โนเกียจึงส่งมือถือ 2 ซิม 2 รุ่นใหม่สู่ตลาดพร้อมกันเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างกันได้เลือกใช้ให้ตรงกับการใช้งานจริง กับอีก 1 สมาร์ทโฟน

 

Nokia Asha 200

Nokia Asha 200 เป็นมือถือ 2 ซิม ราคา 2,350 บาท มีฟังก์ชั่น Easy Swap เปลี่ยนซิมได้ง่ายโดยไม่ต้องปิดเครื่อง พร้อม location-aware สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ อีเมล์ และข้อความส่วนตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยโนเกียเบราว์เซอร์สามารถบีบอัดเว็บได้ถึง 90% ช่วยให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นและประหยัดขึ้น พร้อมรองรับการใช้งาน Facebook chat, Flickr และแอปฯจากโนเกีย สโตร์

 

Nokia C2-06 มือถือ 2 ซิม

Nokia C2-06 มือถือ 2 ซิมดีไซน์เรียบง่าย สีสันสดใสราคา 3,150 บาทใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยีบีบอีดข้อมูล (data compressing) บนโนเกียเบราว์เซอร์ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเน็ตลดลงและดาวน์โหลดหน้าเพจได้เร็วขึ้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา

 

Nokia C5-06 Smart Phone

Nokia C5-06 Smart Phone หน้าจอระบบสัมผัส เข้าถึงรายชื่อด้วยสัมผัสเดียวจากหน้าจอหลัก แบ่งปันตำแหน่งที่อยู่ผ่าน Facebook ด้วย A-GPS ในตัวและระบบนำทางฟรี รับฟีดข้อความทันทีจาก Facebook, Twitter หรือสังคมออนไลน์อื่นๆ รับความบันเทิงขณะเดินทางด้วยการสตรีมวิดีโอ และทดลองเล่นเกมส์ใหม่ๆ ท่องเว็บด้วยการเชื่อมต่อ Wi-Fi ความเร็วสูง พร้อมแอปฯต่างๆ อาทิ Quick Office Reader, Amazon Widget, Podcasting,โปรแกรมตกแต่งรูปภาพ ราคา 4,550 บาท

 

 

“Tablet” ยิ่งโต ยิ่งตกเป็นเป้าโจมตี !!!

การเติบโตของ “Smart Mobile” ที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้เสมือนกับดาบสองคม เพราะวันนี้บรรดา “Smart Mobile” ที่ทุกคนถืออยู่ได้กลายเป็นสิ่งที่อาชญากรไซเบอร์จ้องจะก่อให้เกิดความเสียหาย

จากมุมมองของไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย ได้มีการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 พบว่า การใช้ “Smart Mobile” ที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมา โดยเฉพาะมัลแวร์บนโมบายและการสูญหายของข้อมูล

การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยระดับโลกระบุว่า ยอดขายของ Smart Phone จะทะลุ 461 ล้านเครื่องภายในสิ้นปี 2554 ซึ่งมากกว่ายอดการส่งมอบเครื่องพีซีในช่วงเดียวกัน และในความเป็นจริงภายในสิ้นปี 2554 ยอดขาย Smart Phone กับ Tablet รวมกันจะมากกว่าตลาด PC ถึงร้อยละ 44

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์ประเภทนี้สร้างความสนใจให้กับบรรดาอาชญากรไซเบอร์ และส่งผลให้เห็นการขยายตัวอย่างแท้จริงของจำนวน Malware บนอุปกรณ์แบบพกพาในปี 2554

จาก Malware แบบง่ายๆ ที่เพียงแค่ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อรู้สึกอึดอัดใจไปจนถึง Malware ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการทำเงิน และมัลแวร์มุ่งเน้นการขโมยข้อมูล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า 2554 เป็นปีแรกที่ Malware บนอุปกรณ์แบบพกพาได้กลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงสำหรับองค์กรธุรกิจ และผู้บริโภค

นอกจากนี้ แม้ว่าปี 2554 จะเป็นปีของการคุกคามจากภายนอก แต่บรรดาหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (ซีไอเอสโอ) ได้เริ่มที่จะหันมาเน้นการป้องกันจากภายใน เหตุผลหลักเพราะความนิยมอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์พกพาส่วนตัว ยิ่งอุปกรณ์ Tablet ได้กลายเป็นความกังวลหลักเมื่อพนักงานนำเอา Tablet ของตนเองมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายขององค์กรจำนวนมาก ซึ่งเกินความสามารถขององค์กรที่จะรักษาความปลอดภัยและจัดการอุปกรณ์เหล่านั้น ตลอดจนป้องกันข้อมูลที่พนักงานเข้าถึงผ่านทาง Tablet

การนำ Tablet มาใช้งานอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้องค์กรตกอยู่ในความเสี่ยงจากการสูญหายของข้อมูลจากคนในทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ด้วย Tablet ที่อยู่ในมือ สิ่งที่กลายเป็นความกังวลก็คือบุคคลภายในที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญโดยไม่อยู่ในการตรวจสอบจากฝ่ายไอที ที่สำคัญหากเป็นผู้ไม่หวังดี ก็จะนำเอาข้อมูลสำคัญดังกล่าวออกนอกองค์กร

การแพร่กระจายของอาชญากรรมไซเบอร์จากอาชญากรใต้ดินสู่การทำในรูปธุรกิจอย่างจริงจัง ส่งผลให้การโจมตีแบบมีเป้าหมายมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากรายงาน November Intelligence Report ของ Symantec แสดงให้เห็นว่าการโจมตีแบบมีเป้าหมายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปี 2554 องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 2,500 คน ถูกโจมตีมากที่สุด โดยการโจมตีแบบมีเป้าหมายถูกตรวจพบและป้องกันเฉลี่ย 36.7 ครั้งต่อวันในระหว่างปี 2011

ในทางกลับกัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 250 คน การโจมตีแบบมีเป้าหมายถูกตรวจพบและป้องกันที่ 11.6 ครั้งต่อวันในช่วงเวลาเดียวกัน

จำนวนการโจมตีแบบมีเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากแรงผลักดันของการช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยบรรดาบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากการจารกรรมทางไซเบอร์เพื่อซื้อหาข้อมูลสำคัญของคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น สมมติว่าองค์กรกำลังเตรียมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโรงงานผลิตสารเคมีใหม่ก็ใช้การโจมตีแบบมีเป้าหมายกับคู่แข่งในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่สำคัญของคู่แข่ง และเพื่อให้แน่ใจว่าได้เปรียบทางการแข่งขัน

Symantec เพิ่งค้นพบชุดของการโจมตีที่มีชื่อรหัสว่า “Nitro” ที่มีเป้าหมายหลักคือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในการวิจัย พัฒนา และการผลิตสารเคมี ตลอดจนวัสดุขั้นสูง มีบริษัทด้านเคมีรวมทั้งสิ้น 29 แห่ง และอีก 19 แห่งในด้านอื่นๆ รวมถึงบริษัทด้านการป้องกันประเทศยืนยันว่าได้ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีครั้งนี้ เป้าหมายของการโจมตีเหล่านี้เพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เอกสารการออกแบบ สูตร และกระบวนการผลิต

การแฮกผู้ให้บริการใบรับรอง Secure Sockets Layer (SSL) Certificate และภัยคุกคามจาก Malware ที่ใช้ใบรับรอง SSL ในทางที่ผิด ได้กลายเป็นประเด็นในปี 2554 โดยการผลักดันของผู้ออกใบรับรอง SSL (CAs) และเจ้าของเว็บไซต์ที่ต้องการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องตัวเองและลูกค้า