สรุปข่าวไอทีประจำวัน (17 มกราคม 2555)


สรุปข่าวไอทีที่น่าสนใจประจำวันอังคารที่ 17 มกราคม 2555 ครับ

 

หน้าต่าง(กระจก) อัจฉริยะ !!!

 

แม้งาน CES 2012 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับแก็ดเจ็ตน่าสนใจในงานมาฝากกันเช่นเคย อย่างในรายงาข่าวเช้านี้ ขอเริ่มต้นด้วย “หน้าต่าง (กระจก) อัจฉริยะ” (smart window) จากซัมซุง (Samsung) ซึ่งนอกจากจะได้รับความสนใจจากสื่อในงานแล้ว เชื่อว่า ไอเดียในการติดตั้งจอสัมผัสที่มีความ “โปร่งใส” (transparent) มองทะลุได้เข้าไปแทนกระจก พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลบนเน็ตได้ น่่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย

โดยพื้นฐานการทำงานของ Smart Window ก็คือ การเป็นกระจกหน้าต่างทีสามารถมองเห็นได้ “ทางเดียว” ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่อยู่ด้านในสามารถมองเห็นโลกภายนอกได้ แต่ข้างนอกจะไม่สามารถมองเห็น นอกจากนี้ มันยังเป็นหน้าจอแสดงผลทีทำงานในระบบสัมผัส โดยสามารถแสดงข้อมูลต่างๆ รวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปจนถึงการรับชมภาพยนตร์ หรือแม้แต่การทำหน้าที่เป็น “มู่ลี่” เสมือนที่สามารถหมุนเปิดปิดได้ ดังที่แสดงให้เห็นในคลิปข้างล่างนี้

ทั้งนี้ทาง Samsung กำลังจะผลิต Smart Window เพื่อวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเดือนหน้า และแล้ว หน้าต่างก็กำลังจะกลายเป็นอีกจอหนึ่งสำหรับคนในยุคที่บริโภคข้อมูลตลอดเวลา

ฟ้องร้องสิทธิบัตรยังวุ่นไม่เลิก Kodak พุ่งเป้า HTC – Apple !!!

ทีม กฏหมายของโกดัก เปลี่ยนเป้าหมายการฟ้องร้องเพื่อให้บริษัทอยู่รอด มายัง 2 ยักษ์ใหญ่วงการสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตอย่างเอชทีซี และแอปเปิล ในการละเมิดสิทธิบัตรของโกดัก 4 ชนิด ขณะที่ล่าสุดแอลจียอมจ่ายค่าสิทธิบัตรไมโครซอฟท์เพื่อให้รอดจากการถูกฟ้องใน การจำหน่ายแอนดรอยด์

อีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak) ยื่นร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และศาลสหรัฐฯในเขตนิวยอร์คตะวันตก ถึงการที่เอชทีซี และแอปเปิล นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการส่งภาพ และที่เกี่ยวข้องของโกดักไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องการให้ทาง ITC สั่งให้ทั้ง 2 บริษัท หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดลิขสิทธ์ในสหรัฐฯ

โดยใน 4 สิทธิบัตรที่โกดักยื่นเรื่องไป ประกอบไปด้วย สิทธิบัตรเกี่ยวกับการส่งภาพอัตโนมัติจากกล้องผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการถ่ายรูปและแชร์ภาพไปยังอีเมลแอดแดรส

แน่นอนว่าสิทธิบัตรเหล่านี้ครอบคลุมอยู่ในสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตแทบทุกเครื่องที่วางจำหน่าย แต่ผู้ผลิตรายอื่นมากกว่า 30 บริษัท อย่าง แอลจี โมโตโรล่า ซัมซุง และโนเกีย ได้รับอนุญาตในสิทธิบัตรดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ของโกดัก ในการเดินหน้าฟ้องร้องเรียกเงินค่าชดเชย เนื่องจากก่อนหน้านี้โกดัก พยายามเข้าไปเจรจาโดยตรงกับทั้ง 2 บริษัทแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเน้นย้ำว่า เป็นการฟ้องเพื่อให้ได้รับเงินชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยีโดย ไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ เอชทีซีเองก็ได้สิทธิบัตรอื่นของโกดักในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการแสดงรูปภาพ จากโกดักมาสักพักแล้ว ขณะที่ทางแอปเปิลกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ ดังนั้นการฟ้องร้องครั้งนี้ อาจเป็นการเร่งให้ทั้ง 2 บริษัท ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตรให้แก่โกดักก็เป็นได้

*** LG ยอมจ่าย Microsoft ***

ในขณะที่ แอลจี ยอมควักเงินจ่ายค่าสิทธิบัตรให้แก่ไมโครซอฟท์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรบน สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติแอนดรอยด์ ส่งผลให้แอนดรอยด์มากกว่า 70% ในสหรัฐฯ ได้รับความคุ้มครองจากสิทธิบัตรของไมโครซอฟท์จาก 10 ผู้ผลิตหลัก อย่าง เอชทีซี ซัมซุง และเอเซอร์ เป็นต้น

ทำให้แอลจี ถือเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่รายสุดท้ายที่ยอมจ่ายเงินค่าสิทธิบัตรให้แก่ ไมโครซอฟท์ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ทุกชนิด ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการโครม อย่างแท็บเล็ต โทรศัพท์ โน้ตบุ๊ก

โดยการจรดปากการ่วมใช้สิทธิบัตรของไมโครซอฟท์ ถือเป็นสัญญาใจให้เอชทีซี ที่ทำสัญญาร่วมกันตั้งแต่ช่วงปี 2010 และซัมซุงในปีที่ผ่านมา เป็นผู้ผลิตให้แก่สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน ของไมโครซอฟท์ ซึ่งสัญญาของแอลจีก็คงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่จะร่วมกันทำตลาดสมาร์ทโฟนต่อไปในอนาคต ทำให้เหลือบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์รายใหญ่อย่าง โมโตโรล่า โมบิลิตี้ ที่ถูกGoogleซื้อไปเพียงรายเดียวที่ยังปฏิเสธ ไม่ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตรให้แก่ไมโครซอฟท์ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท มีปัญหาพัวพันทางกฏหมายในการละเมิด เพื่อผลิตแอนดรอยด์หลายรายการตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

คุณตาคุณยายเฮ…! “หุ่นยนต์ดินสอ 2” เจาะตลาดผู้สูงอายุ !!!

หุ่น ยนต์อัจฉริยะเชิงพาณิชย์ไทยสู่ก้าวที่สอง หลัง CT Asia Robotics เปิดตัว “หุ่นยนต์ดินสอ 2” เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เตรียมผลิตป้อนลูกค้า โรงพยาบาล สถานพยาบาลคนชรา ก่อนผลิตหุ่นยนต์รองรับการเติบโตงานบริการด้านอื่นๆ ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ

หลังจากที่บริษัท CT Asia Robotics จำกัด ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ “หุ่นยนต์ดินสอ” มาแล้วเมื่อปี 2552 มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจสั่งซื้อหุ่นยนต์ไปใช้เพื่อการสันทนาการและ การตลาดจำนวนมาก อาทิ บริษัท เอ็มเค เรสเตอรองค์ จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด

มาในปี 2555 CT Asia Robotics ได้พัฒนา หุ่นยนต์ดินสอ 2 ขึ้น เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุในภาวะที่ขาดแคลนผู้ดูแลหรือนางพยาบาล โดย หุ่นยนต์ดินสอ 2 ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ประกอบด้วย

1.แขนกลที่ออกแบบให้เลียนแบบกล้ามเนื้อแขนของมนุษย์ด้วยการใช้เส้นสลิงในการ ควบคุมการเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถพับงอหมุนได้ 7 จุดต่อ 1 แขน สามารถทำการเสิร์ฟอาหาร, หยิบสิ่งของ รวมถึงไหว้และโบกมือ

2.สามารถทำการโทร.ออกไปยังผู้ที่ต้องการติดต่อได้ พร้อมทั้งสามารถบันทึกรายชื่อผู้ที่ต้องการติดต่อไว้ในระบบฐานข้อมูลของ หุ่นยนต์ดินสอ 2 ได้

3.มีการติดตั้งนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ DinsowSpond ซึ่งเป็นระบบเรียกให้โทร.กลับ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเรียกให้แพทย์หรือลูกหลานติดต่อกลับหาผู้สูงอายุได้อย่าง รวดเร็ว

ที่สำคัญคือหุ่นยนต์สามารถทำงานโดยไม่มีวันหยุด และสามารถแบ่งเบาภาระการดูแลได้ 24 ชม. ผู้สูงอายุจะไม่ขาดการติดต่อหรือขาดการเฝ้าดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะห่างกัน เพียงใด ซึ่งหุ่นยนต์ดินสอถูกพัฒนาให้สามารถปฏิบัติการได้หลายอย่าง อาทิ ทำงานเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ผู้สูงอายุสามารถโทร.ติดต่อหาลูกหลาน หรือโทร.ออกฉุกเฉินไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล คลินิกใกล้บ้าน สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง และมีระบบปฏิบัติการแบบ Real Time Monitoring เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแล และเห็นสภาพความเป็นไปของผู้สูงอายุจากที่ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เช็กสัญญาณชีพ Vital Signs ส่งข้อมูลตรงไปยังแพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุรายนั้นๆ โดยตรงเสมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำบ้าน ช่วยให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลผู้สูงอายุได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทาง ไปที่โรงพยาบาล รวมทั้งสามารถวัดไข้ ตรวจลมหายใจ ความชื้น เฝ้าดูการหลับ ตรวจจุดกดทับ และวัดคลื่นหัวใจ กรณีที่คนไข้มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติจะมี Alert เตือนทันที

เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CT Asia Robotics จำกัด บริษัทผลิตหุ่นยนต์เพื่อการพาณิชย์แห่งแรกของไทย บอกว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของหุ่นยนต์ดินสอ 2 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โรงพยาบาล สถานพยาบาลคนชรา ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในการทำการตลาด และบริการ เช่น เป็นพนักงานต้อนรับคนไข้ในโรงพยาบาล ดูแลช่วยเหลือคนชรา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนประมาณ 100 แห่งทั่วประเทศ มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท และมีการขยายตัวสูงถึง 30-40%