สรุปข่าวไอทีประจำวัน (23 มกราคม 2555)


สรุปข่าวไอทีที่น่าสนใจประจำวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2555 ครับ

 

เหตุใด Apple ถึงเลือกจีนเป็นฐานการผลิตหลัก ???

เชื่อว่าหลายคนคงจะมีคำถามในใจว่าเพราะเหตุอันใด Apple ถึงเลือกประเทศจีนเป็นฐานการผลิตหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายแหล่ ทั้งที่ในสหรัฐเองก็มีโรงงานที่สามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ Apple ได้ตามที่ต้องการทุกระเบียดนิ้ว ล่าสุดนิวยอร์ก ไทมส์ ได้เปิดเหตุผลว่าทำไม Apple จึงเลือกประเทศจีนนั้นเป็นเพราะว่าค่าการผลิตมีราคาถูก และโรงงานผลิตในจีนสามารถตอบสนองความต้องการของ Apple ได้ดีกว่าโรงงานในอเมริกา

เว็บไซต์ นิวยอร์ก ไทมส์ (New York Times) ได้ตีพิมพ์บทความพิเศษเพื่ออธิบายว่าเพราะเหตุอันใด Apple จึงเลือกใช้โรงงานประเทศจีนเป็นสถานีหลักในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับค่ายผลไม้ชื่อดังนาม Apple

โดยรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ เปิดเผยว่าเนื่องจากในประเทศจีนมีแรงงานที่มีความสามารถเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแรงงานที่มีราคาถูกกว่าในสหรัฐอเมริกา นอกเหนือไปจากนี้แล้วสาเหตุอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการสร้างหอพักให้กับบรรดาแรงงานต่างๆ ภายในโรงงาน และใช้ระยะเวลาในการสร้างหอพักให้เสร็จสิ้นเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์

และอีกเหตุผลประการหนึ่ง ทุกวันนี้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงงานที่สามารถผลิตชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ในอาณาเขตที่ไม่ไกลกันจนเกินไปนัก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในสหรัฐอเมริกา

อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ Apple ได้เปิดตัว iPhone ครั้งแรก โดยก่อนที่แอปเปิลจะเริ่มเปิดตัว iPhone อย่างเป็นทางการนั้น สตีฟ จ็อบส์ได้พบเจอกับปัญหา ที่ทำให้รู้สึกหัวเสียเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือหน้าจอของ iPhone รุ่นแรกนั้นเป็นรอยขีดข่วนได้ง่ายมาก!

เมื่อเจอปัญหาเช่นนี้ สตีฟ จ็อบส์ จึงได้สั่งการให้โรงงานผลิตในประเทศจีนเปลี่ยนหน้าจอจากเดิมที่ใช้พลาสติก มาเป็นหน้าจอที่เป็นกระจกทั้งหมด ทั้งนี้จ็อบส์ได้กล่าวว่าแอปเปิลจะไม่มีวันที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นตำหนิเช่นนี้เป็นอันคาด และกระบวนการเปลี่ยนหน้าจอก็ถูกเนรมิตรให้เสร็จสมบูรณ์โดยใช้เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าฐานการผลิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 

“Belkin” เจาะตลาดอุปกรณ์เสริมไทย เน้น Apple device -Home Entertainment

Belkin รุกตลาดอุปกรณ์เสริมประเทศไทย วางสินค้าเจาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แอปเปิล และโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นหลัก หวังชิงส่วนแบ่งตลาด 30% เชื่อปัจจัยการเติบโตของ Smart Phone จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเติบโตจากกลุ่มอุปกรณ์เสริม

เควิน กิลมอร์ ประธานอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เบลกิ้น อินเตอร์เนชั่นเนล ให้ข้อมูลถึงภาพรวมของอุปกรณ์เสริมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า มูลค่าของตลาดอยู่ที่ราว 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดประเทศไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของภูมิภาค เป็นรองจากตลาดอินโดนีเซีย

“มูลค่าของตลาดอาเซียน มีขนาดเทียบเท่ากับตลาดอินเดีย หรือ จีน และไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค แต่ขนาดตลาดเล็กกว่าอินโดนีเซีย ทำให้เบลกิ้นให้ความสำคัญกับการทำตลาดในประเทศไทยสูง”

โดยสัดส่วนรายได้หลักของ Belkin จะมาจากอุปกรณ์เสริมในอุปกรณ์พกพากว่า 50% รองลงมาเป็นอุปกรณ์เครือข่าย และสายอุปกรณ์ต่อพ่วง อย่างละ 20% ที่เหลือเป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่เข้าไปทำในตลาดองกรค์ราว 10%

นายชาคริต ศิริกุลประดิษฐ์ ผู้จัดการด้านการขายประจำประเทศไทย บริษัท เบลกิ้น จำกัด กล่าวว่่า การทำตลาดในปีนี้ของเบลกิ้นยังคงเน้นไปที่กลุ่มคอนซูเมอร์เป็นจาก 2 ส่วนหลักๆ คืออุปกรณ์เสริมของผลิตภัณฑ์ Apple และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ความบันเทิงภายในบ้าน ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการใช้งานผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย

“เป้าหมายของ Belkin คือมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยมากกว่า 30% ในกลุ่มอุปกรณ์เสริมอินเตอร์แบรนด์ จากราคา และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระดับกลางถึงบนเป็นหลัก โดยเชื่อว่าปัจจับเสริมจะมาจากการปรับราคาของอุปกรณ์ไฮเอนด์อย่าง LED TV เครื่องเล่นบลูเรย์ที่ปรับราคาลง และการเติบโตของตลาด Smart Phone”

กลุ่มเป้าหมายของ Belkin จะเป็นวัยรุ่น ทันสมัย ที่ต้องการผลิตภัณฑ์เสริมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และเชื่อว่าจากการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์แบรนด์ จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้เพียงตัวอักษร มาใช้เป็นสัญลักษณ์รูปคนที่สื่อถึงความเข้าใจผู้บริโภคในการออกแบบผลิตภัณฑ์

ความโดดเด่นของอุปกรณ์เสริม Apple ของ Belkin นอกจากในแง่ของประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการนำนวัตกรรม ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเช่น กริบที่ทำให้มีปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ ไมโครโฟนรับเสียง หรือรีโมทถ่ายภาพอัตโนมัตเป็นต้น

ส่วนอุปกรณ์ความบันเทิงในบ้าน จะเน้นไปที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เครือข่ายไร้สาย ที่นำเทคโนโลยี WiDi จาก Intel มาพัฒนาให้สามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงคุณภาพสูงผ่านเครือข่ายไร้สาย จากอุปกรณ์ต้นทางไปยังหน้าจอโทรทัศน์ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณ

ปัจจุบัน Belkin ทำตลาดในประเทศไทยผ่าน 3 ดิสทริบิวเตอร์หลัก โดยวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านหน้าร้านค้าราว 500 สาขาทั่วประเทศ และคาดว่าภายในปีนี้จะมีเพิ่มขึ้นอีกราว 50% ไม่รวมกับการเปิดคอนเซปต์สโตร์เพื่อแสดงโซลูชันสินค้าของ Belkin ที่กำลังอยู่ในช่วงมองหาพาร์ทเนอร์ร่วมกัน

 

Loxley คว้าโครงการ NedNet 1.5 พันล.

เอแอล คอนโซเตียม ของล็อกซเล่ย์ กับเอไอที คว้างาน NEdNet กระทรวงศึกษาฯ มูลค่า 1,589 ล้านบาท ทำให้ยอดรวมงานโครงการต่างๆ ในมือล็อกซเล่ย์ พุ่งทะลุหมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายทองใหญ่ จันทนวัลย์ กรรมการบริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า เอแอล คอนโซเตียม (AL Consortium) ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างล็อกซเล่ย์ และบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) ชนะการประมูลงานโครงการขยายเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (NEdNet) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet2) ที่ล็อกซเล่ย์กำลังดำเนินการติดตั้งและส่งมอบอยู่ โดยเป็นการสร้างโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เชื่อมต่อจากเครือข่ายแกนหลัก ไปยังสถาบันการศึกษาทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามแผนภายใต้โครงการเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (NEdNet) ปี 2554-2556 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

สำหรับโครงการ NEdNet มีทั้งหมด 5 โซน ระยะเวลาดำเนินการ 20 เดือน โดยเอแอล คอนโซเตียม เป็นผู้ชนะการเสนอราคาจำนวน 3 โซน ได้แก่ โซน 2 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โซน 3 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และ โซน 5 พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทั้ง 3 โซนดังกล่าว ครอบคลุม 4,378 โรงเรียน โดยเนื้องานหลักเป็นการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงระยะทางประมาณ 23,118 กิโลเมตร และอุปกรณ์สื่อสัญญาณรองรับการเชื่อมต่อระบบสื่อสารไปยังโรงเรียนดังกล่าวข้างต้น สำหรับในส่วนของ ล็อกซเล่ย์ รับผิดชอบคือ โซน 3 และโซน 5 คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 1,036 ล้านบาท

โครงการ NEdNet นี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถขยายเครือข่ายการศึกษาได้ครอบคลุมโรงเรียนประมาณ 7,606 โรงเรียน รวมกับเครือข่ายเดิมของ UniNet ที่ครอบคลุมไปแล้ว 2,000 โรงเรียน ทำให้สามารถกระจายโอกาสทางการเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษาในภูมิภาคได้เกือบ 10,000 โรงเรียน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 30,000 โรงเรียน ดังนั้น หากในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายขยายเครือข่ายการศึกษาดังกล่าวออกไปให้ครอบคลุม 20,000 โรงเรียนที่เหลือ ล็อกซเล่ย์ก็มีแผนจะเข้าร่วมประมูลงานต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ จากการคว้าโครงการ NEdNet ดังกล่าว เมื่อนำมารวมกับโครงการเดิมที่มีอยู่ ส่งผลให้ยอดรวมโครงการต่างๆที่อยู่ในมือ (Backlog) ของกลุ่มล็อกซเล่ย์ ต้นปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 10,435 ล้านบาท โครงการหลัก คือ การสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ3G ของทีโอทีมูลค่า 5,600 ล้านบาท โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำรอบบริเวณอ่าวไทยของบริษัท กสท โทรคมนาคม มูลค่า 2,535 ล้านบาท

และล่าสุดโครงการ NEdNet มูลค่า 1,036 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3โครงการหลักรวมถึงโครงการอื่นๆ สามารถสร้างยอดขายของกลุ่มงานไอซีทีของล็อกซเล่ย์ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และจะเป็นตัวผลักดันรายได้ของกลุ่มล็อกซเล่ย์ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ควบคู่ไปกับรายได้ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งและกลุ่มธุรกิจบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

เคล็ดลับคัมภีร์คว้าใจลูกค้ายุค “Social Network Fever”

หลากหลายคำถามและคำตอบเกี่ยวกับบทบาทของ “Social Network” เครื่องมือมัดใจลูกค้าที่ไม่ว่าจะมองซ้ายบ่ายขวาไปทางไหนต้องอยู่ในระยะการมองเห็นของนักการตลาด ด้วยฐานะหนึ่งในกลยุทธ์ชั้นยอดที่ไม่ว่าจะขายหรือ CRM ก็มีช่องให้ได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตามในบรรดานักค้านักขายที่หลั่งไหลเข้ามาขอร่วมอินเทรนด์เป็นนักรู้ (ใจ) ลูกค้าจนทำให้บรรยากาศโดยรวมเข้าขั้นเป็น “Social Network Fever” นั้น อีกมุมหนึ่งยังมีคนที่แม้จะจับต้นชนปลายได้ถูก อ่านแล้วเข้าใจ แต่พอนำไปใช้ก็ยังไม่โดน หรือทำได้ก็แค่เดินหน้าอย่างเตาะแตะเพื่อให้ไปถึง ณ ปลายทางใหญ่ของตัวเอง

“นิวมีเดีย” รวบรวมมุมมองและความเห็นน่าสนใจจากงานสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ “Social Network กับการบริหารงานยุคใหม่” มาฝาก เผื่อเก็บไว้ใช้เป็นไอเดีย

แค่ “Like” ไม่มีประโยชน์

Guruและที่ปรึกษาเรื่องแบรนดิ้ง “ศิริกุล เลากัยกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด กล่าวว่า กระบวนการสร้างแบรนด์ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อนที่จุดการต้นเริ่มจากกระบวนการสร้างความตระหนักรู้ ความเกี่ยวพัน และนำไปสู่ทดลองใช้ ปัจจุบันต้องพูดถึงเรื่องพันธะผูกพันรวมไปถึงการกล่าวถึงบอกต่อในกลุ่มลูกค้าด้วย

ทั้งนี้กรณีของการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊คก็เช่นกัน ในทางการตลาดแค่การกด “Like” ถือว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร ผลสำเร็จที่ต้องไปให้ถึงคือ ทำให้เกิดการแสดงความเห็น เกิดเป็นกระบวนการแบ่งปันเรื่องราวต่อกัน และกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ระดับที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้

“แค่เป็นลูกค้าระดับลอยัลถือว่าไม่เพียงพอ ต้องทำให้ได้ถึงระดับกระบอกเสียงที่ตายแทนกันได้ มิเช่นนั้นถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ”

เธอแนะว่า การเข้ามาในตลาดดิจิทัล นักการตลาดไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 100% ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมอย่างดีเสียก่อน

“สถานที่” ไม่ใช่คำตอบ

ศิริกุล เล่าเสริมว่า ตลาดหรือสถานที่ไม่ใช่ประเด็น หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไป พูดง่ายๆ คืออะไรที่อยู่ในเชิงกายภาพจะไม่ถูกจำกัดขอบเขตอีกแล้ว ด้านลูกค้าก็เช่นกันพฤติกรรมได้เปลี่ยนจากการซื้อในแบบไม่มีการตอบกลับเป็นแอคทีฟมากขึ้น ทำให้ต้องแบ่งกลุ่มออกไปตามความหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่ตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย

เธอเชื่อว่า ในประเทศไทยยังไม่เห็นชัดเจนแต่ต่อไปจะต้องเป็นรูปธรรมมากขึ้นมากกว่านี้แน่ๆ จากนี้เป็นต้นไปคำที่ใช้เรียกลูกค้าได้เปลี่ยน “consumer” เป็น “prosumer”

“ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอีกคนกล่าวว่า โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว การเข้าถึงผู้ส่งสารจะต้องสร้างเนื้อหาที่ผู้รับต้องการไม่ใช่ฮาร์ดเซลในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น

เขากล่าวว่า ถ้าไม่ใช่เซเลบไม่จำเป็นต้องประกาศให้คนอื่นรู้ทุกเรื่อง ระวังอย่าใช้คำหยาบคาย อย่าคิดว่าตัวเองแน่ ควรปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมคนรับสารแต่อย่ามากเกินไปจนเสียหลักการของตัวเอง

“โนเกียเป็นตัวอย่างของบริษัทที่ไม่ผลิตสินค้าที่คนใช้ต้องการ ทั้งๆ ที่สามารถผลิตแอนดรอยด์ได้แต่กลับไปเลือกใช้วินโดว์สโฟน 7” ธันยวัชร์ยกตัวอย่าง

ด้าน “ชีพธรรม คำวิเศษ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอี-บิซิเนส ให้มุมมองอีกแง่มุมที่สอดคล้องกันว่า พฤติกรรมนักข่าวส่วนใหญ่ชอบใช้ทวิตเตอร์มากกว่าเฟซบุ๊ค โจทย์สำคัญของคนทำการตลาดคือทำอย่างไรให้ลูกค้าและนักข่าวรีทวีตของความ แต่ทั้งนี้Googleพลัสก็มองข้ามไม่ได้

เลือกได้ 2 ทาง

“ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่าเฟซบุ๊คมีสถิติที่น่าสนใจ ผลสำรวจชี้ว่าใน 100 คนมี 40 คน ติดตามแฟนเพจของแบรนด์สินค้าต่างๆ และในจำนวน 40 คนนี้มีถึง 51% ที่ซื้อสินค้าจริงๆ ขณะที่ทวิตเตอร์ผู้ติดตามแบรนด์มีจำนวน 25% และในผู้ติดตามดังกล่าวมีผู้ซื้อสินค้า 67%

ข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 16 ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คสูงสุดทั่วโลก จำนวน 13.28 ล้านคน

เขากล่าวด้วยว่า ภาคองค์กรมีทางเลือก 2 ทางสำหรับการทำการตลาดด้วยโซเชียลมีเดีย คือหนึ่งทำเองและสองจ้างบริษัทเอาท์ซอร์สข้างนอกทำให้ ประการแรก หากต้องการทำเอง สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือ จัดสรรกำลังคน สร้างแคมเปญ ทำอะไรที่ง่ายไม่ต้องซับซ้อนมาก และพยายามใช้วิธีการสื่อสารที่มีให้ครอบคลุมทุกช่องทาง วิธีนี้มีข้อควรระวังคือ ทุกกระบวนการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบคำนึงถึงทั้งเรื่องการวางตัวบุคลากร ทรัพยากร และค่าใช้จ่ายที่จะตามมา

ส่วนการจ้างบริษัทภายนอกมีข้อดีคือสบายกว่าไม่ต้องคอยทำงานเอง 7 วัน 24 ชั่วโมง ด้านกลยุทธ์ที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือการเลือกคู่ค้า ความร่วมมือและความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน แต่ทั้งนี้ที่ต้องระวังคือความสามารถของบริษัทที่เลือกและงบประมาณที่ต้องจ่ายออกไป

ขายของมากไปไม่ดี

ตัวแทนธนาคารกสิกรไทยชี้ว่า กรอบการทำงานบนโลกโซเชียลประกอบไปด้วย 1.การรับฟังความคิดเห็นลูกค้าต้องทำให้เหมาะสมไม่มุ่งมั่นขายของมากเกินไป 2.พยายามดึงลูกค้าให้เข้ามามีส่วนร่วม 3.เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง 4.ซื่อสัตย์ 5.มองระยะยาวโดยรวมที่เน้นมากที่สุดคือการวางให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างให้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันในระยะยาว ให้บริการด้านคำปรึกษา และเข้าใจในไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

“อย่ามองแค่การขาย ให้มุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างให้เกิดไวรอล เอฟเฟคท์ ที่ทำให้คนรู้สึกดีกับแบรนด์ของเรา”

ศีลวัต กล่าวเสริมว่า โซเชียลมีเดียไม่ใช่ลูกแก้ววิเศษที่บันดาลทุกสิ่งมาให้ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องไปกับมันเพราะคนส่วนใหญ่เริ่มใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว

ธรรมชาติดีที่สุด

ศิริกุล Guruและที่ปรึกษาเรื่องแบรนดิ้งคนเดิม เล่าสรุปเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า การเริ่มต้นจำต้องย้อนดูตัวเองเสียก่อนว่ามีจุดแข็งและแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วให้ยึดมั่นในสิ่งที่หาได้ไว้เป็นสรณะ การสื่อสารกับคนอื่นให้สะท้อนจุดนี้ให้เขาได้เห็น

“แยกแยะออกให้ชัดเจนว่าแบรนดิ้งคือตัวตนไม่ใช่จุดขาย ถ้าจุดขายหมายถึงมาร์เก็ตติ้ง”

นายกสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ชาลอต โทณวณิก” :Xานใหญ่งานสัมมนาครั้งนี้กล่าวสรุปทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องนี้ต้องทำในแบบที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด อย่าแข็งหรือเป็นทางการมากจนเกินไป อย่าคิดแต่จะยัดเยียดความคิดของตัวเองให้ลูกค้า